ความคิดเห็นที่ 13
ความจริงที่โลกลืม! เราเรียนในมหาลัยไปเพื่ออะไร!? อุดมศึกษาที่แท้จริงคืออะไร!? การศึกษามีไว้ทำไม!? โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
สังคมอุดมศึกษา
นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1489
ผมเคย "อ่าน" (read for) ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียระหว่างที่ศึกษาในมหาวิทยาลัย และพบด้วยความประหลาดใจว่า ในสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน นักศึกษาอินโดนีเซียใช้เวลาเฉลี่ย 6 ปีขึ้นไป เพื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี
เหตุผลก็เพราะว่า ในสมัยนั้นไม่ค่อยมีตำแหน่งงานให้บัณฑิตมากพอ ถึงรีบจบไปก็เตะฝุ่น จึงสู้ใช้เวลาเตะฝุ่นในมหาวิทยาลัยไม่ได้ โดยเรียนไปและรับงานจ๊อบไปเรื่อยๆ ดีกว่า เพราะงานประเภทนี้หาได้ง่ายกว่าในฐานะนักศึกษา
ไม่นานมานี้ ผมได้ยินข่าวว่ารัฐบาลหรือใครในรัฐบาลสักคน (เวลานี้เรามีรัฐบาลที่เป็นองค์กรเดียวหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจน่ะครับ) ท่านกำลังจะหาเงินมาสนับสนุนให้บัณฑิตได้เรียนต่อในระดับหลังปริญญาตรี เพื่อลดจำนวนของบัณฑิตเตะฝุ่นลง
และนี่คือเหตุที่ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องอินโดนีเซียสมัยซูการ์โนที่เคยอ่านมา แล้วก็นึกเลยไปถึงอีกเรื่องหนึ่งซึ่งผมคิดว่าสำคัญกว่า
เป้าหมายเดิมของการศึกษาระดับปริญญาตรี โดย? เฉพาะในอังกฤษและยุโรปนั้น คือความสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเรียนอะไรในระดับนี้ก็ตาม ก็ล้วนเรียนเพื่อจะได้สามารถไปเรียนเองถึงระดับไหนก็ได้ที่ตัวพอใจ
ไม่เฉพาะแต่เรียนเองได้ในวิชาที่เรียนมาเท่านั้นนะครับ แต่เรียนเองได้ในทุกวิชา และทุกเรื่อง เพราะรู้แล้วว่าวิธีเรียนรู้เรื่องต่างๆ นั้นต้องทำอย่างไร ตั้งแต่ชั้นเริ่มต้นจนปลาย
และนั่นคือเหตุที่ผมดัดจริตพูดว่าเคยไป "อ่าน" ประวัติ? ศาสตร์อินโดนีเซียในตอนต้น เพื่อให้ตรงกับสำนวนโบราณของอังกฤษว่าไปเรียนเอาวิชาในมหาวิทยาลัย การไปมหาวิทยาลัยคือไป "อ่าน" หรือไปเรียนเอง มหาวิทยาลัยเพียงแต่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนเองไว้ให้ เช่น ห้องสมุด และผู้รู้ที่เรียกว่าอาจารย์เท่านั้น
เมื่อผมเรียนปริญญาตรีในเมืองไทย เป้าหมายอันเป็นอุดมคตินี้ก็ยังตกค้างอยู่ในมหาวิทยาลัยไทย แม้แต่เมื่อมาเป็นครูในมหาวิทยาลัย ก็ยังได้เห็นร่องรอยของอุดมคตินี้ตกค้างอยู่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม เพราะเป็นแค่สิ่งตกค้าง จึงไม่มีมหาวิทยาลัยใดคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง คงทำไปตามรูปแบบอย่างผิวเผินทั้งสิ้น เช่น เพื่อให้ศึกษาค้นคว้าได้เองเป็น เขาก็จัดสอนวิชาการใช้ห้องสมุด ซึ่งเนื้อหาวิชาตื้นเขินขนาดที่น่าจะพิมพ์เป็นเอกสารเล่มเล็กๆ แจกนักศึกษาที่สอบเข้าได้ทุกคนโดยไม่ต้องสอนเลย (ซึ่งก็เป็นการฝึกความสามารถในการเรียนเองอย่างหนึ่ง)
ในส่วนการเรียนการสอน กลับเรียนและสอนกันโดยไม่มุ่งจะสร้างความสามารถเรียนเอง เช่น เน้นแต่ด้านเนื้อหา ทั้งๆ ที่เนื้อหาเป็นสิ่งที่สามารถกลับไปเปิดหนังสือดูเมื่อไรก็ได้ (และได้ความละเอียดเที่ยงตรงกว่าที่สอนในชั้นเรียน)
วิธีคิดในแต่ละวิชากลับไม่ค่อยได้รับความสำคัญในกระบวนการเรียนการสอน ฉะนั้น จึงไปไม่ถึงสมมติฐานเบื้องต้นของวิธีคิดนั้นๆ ทำให้มองไม่เห็นจุดบกพร่องของวิธีคิดซึ่งได้มาเผินๆ โดยผ่านเนื้อหา
เมื่อขาดทั้งสองอย่างนี้การเรียนอะไรด้วยตัวเองก็เป็นเรื่องยาก เพราะต้องงมไปกับเนื้อหาโดยขาดหลักที่จะจัดระเบียบข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ตนเอง
เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ยังสามารถเรียนด้วยตนเองต่อไปได้จึงหายาก ใครทำได้ (เช่น คุณจิตร ภูมิศักดิ์ หรือ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์) ก็ต้องยกย่องเป็นพิเศษ
เพราะไม่รู้ว่าเอาเรี่ยวแรงและสมองที่ไหนมาฟันฝ่าออกไปจากกะลาที่ครอบอยู่ได้
ผมอาจพูดเกินเลยไปหน่อย เพราะที่จริงคนที่ฟันฝ่าออกมาเพื่อเรียนด้วยตนเองนั้นมีอีกมาก เพียงแต่ไม่ได้เรียนในเชิงวิชาการเท่านั้น หากเรียนที่จะทำธุรกิจได้เอง เรียนที่จะเป็นนักการเมือง, เรียนที่จะเป็นมหาดไทย, เรียนที่จะเป็นผู้บริหาร ฯลฯ มีอีกมากครับ แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ของคนที่จบมหาวิทยาลัย
เป้าหมายของปริญญาตรีดังกล่าวนี้ ไร้ความสำคัญลงไปเรื่อยๆ เมื่อทุนนิยมยุคใหม่ขยายตัวขึ้นหลังสงครามโลกเป็นต้นมา เพราะทุนนิยมยุคใหม่ "ผลิต" ด้วยวิชาความรู้มากขึ้น ในขณะที่องค์กรผลิตก็ขยายตัวจนเป็นยักษ์ใหญ่ที่คลุมไปทั่วโลก จึงต้องการระบบการศึกษาที่สามารถผลิตคนไปป้อนตำแหน่งงาน ไม่ต้องการเสียเงินให้ใครมานั่งเรียนด้วยตัวเองก่อน จึงทำงานได้ดีขึ้น
ทุนนิยมยุคใหม่นี้ มีอเมริกันเป็นตัวแทนหรือหัวหอก
การศึกษาในมหาวิทยาลัยจึงเปลี่ยนไปเป็นการผลิตผู้มีความรู้เฉพาะด้านในระดับสูง เพื่อป้อนเข้าสู่ตำแหน่งงาน
ปริญญาตรีเป็นเพียงบันไดขั้นแรกเพื่อก้าวไปสู่ความรู้ระดับสูงดังกล่าว ไม่ใช่บรรไดขั้นสุดท้ายสำหรับการเรียนรู้เองตลอดชีวิตอีกต่อไป
แต่อเมริกันไม่เคยมีอิทธิพลในมหาวิทยาลัยไทยมาก่อน สมัยที่ผมเรียนอยู่ คณบดี (ซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษ) ถือ? นโย? บายว่า ฝรั่งอเมริกันจะเป็นผู้สอนภาษาอังกฤษในชั้นใหญ่ไม่ได้ ทำได้แค่เป็นผู้สอนในชั้นย่อย (totor) เท่านั้น
มหาวิทยาลัยไทยแรกที่ปรากฏอิทธิพลอเมริกันอย่างเด่นชัดคือ "วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร" ซึ่งเมื่อเริ่มเปิดก็มีจุดมุ่งหมายจะผลิตคนไปป้อนตำแหน่งงานโดยตรง ได้แก่นักการศึกษาที่จะเป็นผู้ปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยเพื่อรองรับการพัฒนา (ตามแผนของธนาคารโลก)
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดด้วยกำลังของอเมริกันในการให้ความช่วยเหลือ ทำให้อิทธิพลอเมริกันครอบงำมหาวิทยาลัยทุกแห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่ผมเคยเรียน
มหาวิทยาลัยไทยจึงตั้งหน้าตั้งตารับใช้ทุนกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาจนถึงทุกวันนี้
เวลาเขาจัดหลักสูตร คำอธิบายอันแรกที่สำคัญเพื่อให้ผ่านการอนุมัติทุกขั้นตอนก็คือ แล้วใครจะจ้างผู้สำเร็จหลักสูตรนั้นไปทำงานบ้าง ยิ่งมากยิ่งดี
นักธุรกิจเข้ามากำหนดสเป๊กของบัณฑิตเกือบทุกแขนง จะเรียนธรณีวิทยา, ฟิสิกส์, การท่องเที่ยว, การโรงแรม, รัฐศาสตร์, ศิลปะ ฯลฯ อย่างไร จึงจะตรงกับตำแหน่งงานที่นักธุรกิจต้องการ
การเอานักธุรกิจเข้ามานั่งกำหนดนโยบายในสภามหาวิทยาลัยกลายเป็นแบบปฏิบัติพื้นฐานที่ต้องทำกันในทุกสภามหาวิทยาลัย
ฉะนั้น ในการวางแผนการศึกษาของมหาวิทยาลัย ตลาดงานจึงเป็นตัวกำกับอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งลืมไปว่าถึงอย่างไรเป้าหมายของการศึกษาทุกระดับ คือตัวผู้เรียนเองเป็นก่อนอื่นทั้งหมด ถ้าจะมีอย่างอื่นตามมาอีกก็น่าจะเป็นสังคมมากกว่าทุน (ถ้าไม่นับสองอย่างนี้เป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ควรนับ)
และด้วยเหตุดังนั้นเป้าหมายตามอุดมคติเดิมของมหาวิทยาลัย คือสร้างความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงน่าจะเป็นเป้าหมายที่ขาดไม่ได้และสำคัญที่สุด เพราะนี่คือการพัฒนาผู้เรียนไปสู่จุดที่จะทำให้เขาใช้ศักยภาพของเขาได้สูงสุด
และเมื่อมองจากบุคคลหรือจากผู้เรียน โลกที่เราทั้งหลายต้องมีชีวิตอยู่สืบไปตั้งแต่บัดนี้ถึงภายหน้า คือโลกที่ไม่อนุญาตให้ใครมีทักษะแคบๆ เพียงทักษะเดียวอีกแล้ว แม้แต่ทักษะที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ก็กลายเป็นสิ่งล้าสมัยงุ่มง่ามและไร้ประสิทธิภาพโดยเปรียบเทียบไปได้ในพริบตาเดียว
ฉะนั้น ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสุดในการศึกษา
ในแง่บุคคล นอกจากการเรียนรู้จะให้ความสุขแก่ผู้เรียนแล้ว เขาจะเป็นคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ รวมทั้งรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เช่นรู้เท่าทันเทคโนโลยีและการตลาดแบบใหม่
แท้จริงแล้ว คนที่สามารถเรียนรู้ได้เองนี่แหละครับที่รับใช้ทุนนิยมยุคใหม่ได้ดีกว่า เพราะทุนยุคใหม่เองก็ต้องปรับทั้งกระบวนการผลิต, การตลาด, และผลผลิตอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน ทักษะที่หยุดนิ่งไม่พัฒนาต่อเลยใช้งานได้ไม่กี่ปีก็กลายเป็นภาระรุงรังของบริษัทไป
คนงานที่จะให้กำไรได้สูงสุดคือคนงานที่สามารถเรียนเองได้ในงานทุกตำแหน่ง
แต่ทุนไทยยังเป็นแค่ทุนตะกราม จึงไม่ได้มุ่งมองหาคนที่เรียนรู้เองเป็นเท่ากับทักษะสำเร็จรูปที่มหาวิทยาลัยผลิตมาป้อน (อย่างน้อยทุนก็ไม่ต้องควักกระเป๋าฝึกเอง)
ผมจึงคิดว่า การวางเป้าหมายของการศึกษาระดับปริญญาตรีไว้แต่เพียงการป้อนแรงงานเข้าสู่ตำแหน่งงาน ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน แม้แต่ที่อยากจะรับใช้ทุนก็เป็นการรับใช้ที่ไม่ฉลาด เพราะให้ผลในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนการรับใช้สังคมนั้น ไม่ได้ผลอะไรเลย
เราจึงควรหันกลับมาสู่การวางเป้าหมายตามเดิม คือเรียนปริญญาตรีเพื่อให้เรียนเองเป็นก่อน
และถ้าวางเป้าหมายอย่างนั้น มหาวิทยาลัยที่ต้องเร่งสร้างขึ้นก็คือสร้างสังคมไทยให้เป็นมหาวิทยาลัย ผมหมายความว่าทำให้การเรียนรู้ด้วยตนเองเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายและสะดวกทั้งสังคม
ผู้เรียนตั้งโจทย์เอง เรียนเอง จนกว่าจะได้คำตอบที่ตนพอใจ
มีสื่อที่ให้ความรู้และความคิดที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้
มีห้องสมุดดีๆ กระจายไปทั่วประเทศ และเชื่อมโยงเข้าหากันจนกระทั่งสามารถเข้าถึงทรัพยากรของห้องสมุดได้เท่าเทียมกัน
มีพิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียมที่ให้ความรู้ด้านต่างๆ อยู่มากมายในทุกท้องถิ่น
มีสมาคมวิชาการและวิชาชีพที่มีกิจกรรมให้ความรู้ทั้งแก่สมาชิกและแก่สาธารณชนอยู่จำนวนมาก
มีการปาฐกถาสาธารณะในเรื่องต่างๆ ที่เปิดให้ผู้คนเข้าฟังหรือเข้าร่วมได้มากมาย
ผลผลิตของมหาวิทยาลัยที่สามารถเรียนเองเป็น จึงไม่ตายด้านเพราะออกจากมหาวิทยาลัยในระบบก็เข้าสู่มหาวิทยาลัยนอกระบบ ในขณะที่ผู้คนทั่วไปก็ใช้ชีวิตในการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นปรกติอยู่แล้ว
แม้แต่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผู้คนก็มีปัญญาที่จะเอาตัวรอด รวมทั้งมีปัญญาที่จะกำกับควบคุมรัฐบาลในการใช้ทรัพยากรส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
สรุปก็คือ มหาวิทยาลัยสอนให้น้อยๆ แต่เรียนให้มากๆ ดีกว่าครับ
http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2009q1/2009february27p8.htm
จากคุณ : แทงใจดำ - [ 13 มี.ค. 52 18:18:44 A:113.53.20.25 X: TicketID:202689 ] |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น